Tuesday, February 12, 2008

ไดโนเสาร์ในไทย

พบซากไดโนเสาร์ ร้อยล้านปีที่โคราช [18 ธ.ค. 50 - 04:33]
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 17 ธ.ค. ที่พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนคร ราชสีมา ต.สุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา นายพงษ์ศิริ กุสุมภ์ รอง ผวจ.นครราชสีมา นายประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ และนายโยอิชิ อซูมา รองผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกุอิ จังหวัดฟูกุอิ ประเทศ ญี่ปุ่น ร่วมกันแถลงข่าวขุดพบชิ้นส่วนกระดูกไดโนเสาร์
นายประเทืองเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2543 สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้รวบรวมชิ้นส่วนกระดูก ไดโนเสาร์ที่พบในก้อนหินบริเวณรอบเขต อ.เมืองนครราชสีมา และเชิญนายดง จี หมิง ผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์จากสถาบันบรรพชีววิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลัง กรุงปักกิ่งของจีน มาช่วยจำแนกชิ้นส่วนกว่า 1,000 ชิ้น
พบว่าเป็นกระดูกไดโนเสาร์ 6 ชนิด คือ อัลโลซอริด อิกัวโนดอนทิด แฮดโดรซอร์ ภูเวียงโกซอรัส โดรเมโอซอริด และออร์นิโธมิมิด และเนื่องจากนายดง จี หมิง เป็นที่ปรึกษาของพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกุอิของญี่ปุ่น ทำให้ นายโยอิชิผู้เชี่ยวชาญไดโนเสาร์และรองผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ ไดโนเสาร์ฟูกุอิซึ่งเคยสำรวจไดโนเสาร์ในจีนเกิดความสนใจและเดินทางมาศึกษาเรื่องนี้ที่ จ.นครราชสีมา เมื่อปี 2549
นายโยอิชิมีความเห็นว่า แหล่งไดโนเสาร์ที่ อ.เมืองนครราชสีมา เป็นแหล่งที่น่าสนใจและศึกษาค้นคว้ามาก เมื่อกลับไปประเทศญี่ปุ่น ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดฟูกุอิ ซึ่งสนับสนุนงบประมาณการจัดสร้างและบริหารงานพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกุอิ จนในที่สุด หัวหน้าคณะผู้บริหารการศึกษาของจังหวัดฟูกุอิคือนายมาซาฮิโร ฮิโรเบะ ประกาศให้ความร่วมมือสำรวจไดโนเสาร์ที่ จ.นครราชสีมา
ทั้งนี้จะสนับสนุนทุนค่าใช้จ่ายให้คณะผู้เชี่ยวชาญของพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกุอิปีละ 6 ล้านเยน หรือ 1.8 ล้านบาท รวม 3 ปี ตั้งแต่ปี 2550-2552 เพื่อสำรวจ ร่วมกับสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯของไทยซึ่งได้รับทุน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จากการขุดซากชิ้น ส่วนกระดูกไดโนเสาร์ในชั้นหินอายุประมาณ 100 ล้านปี ที่แหล่งบ้านสะพานหิน ต.สุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา พบไดโนเสาร์ทั้งพันธุ์กินเนื้อและพันธุ์กินพืช รวมทั้งสัตว์ เลื้อยคลานบินได้
พร้อมกันนั้นพบชิ้นส่วน เต่า จระเข้ ปลาเกล็ดแข็งและพวกเลปิโดเทส ปลาฉลามน้ำจืดไฮโบดอนต์ และหอยต่างๆ ที่สำคัญคือ ไดโนเสาร์พวกอัลโลซอริดมีความยาวถึง 10 เมตร พบที่บ้านสะพานหิน ต.สุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา เป็นพันธุ์กินเนื้อใหญ่ที่สุดที่เคยขุดพบในไทย โดยพบขากรรไกรและฟันหลายซี่ บางซี่ไม่รวมรากฟันมีความยาวถึง 10 เซนติเมตร ก่อนหน้านี้พบกระดูกไดโนเสาร์พันธุ์สยามโมไทรันนัส อิสานเอสซิสที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น เป็นพันธุ์กินเนื้อ มีความยาวเพียง 6.5 เมตร เท่านั้น
ขณะเดียวกันพบชิ้นส่วนไดโนเสาร์พันธุ์กินพืช พวกอิกัวโนดอนต์ มีความยาว 7 เมตร และไดโนเสาร์ปากเป็ดหรือแฮดโดรซอริด โดยพบฟันและขากรรไกรเช่นกัน สำหรับไดโนเสาร์พันธุ์ปากเป็ดนี้พบเป็นแห่งแรกของไทย และคาดว่าอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก สำหรับสัตว์เลื้อยคลานบินได้พวกเทอโรซอร์ ถือว่าพบเป็นแห่งที่ 2 ของประเทศไทยต่อจาก จ.สกลนคร โดยพบฟัน 20 ซี่ และกระดูกส่วนหนึ่ง โดยปีกมีความกว้างเมื่อกางออกไม่ต่ำกว่า 5 เมตร อยู่ในตระกูลออร์นิโธคีริดี หรือเทอโรซอร์ที่มีปีกคล้ายนก
สำหรับไดโนเสาร์ที่พบเหล่านี้ไม่มีรายงานการพบมาก่อนในเขต จ.ขอนแก่น และ จ.กาฬสินธุ์ อันเป็นแหล่งไดโนเสาร์ที่รู้จักกันทั่วไปในประเทศไทย นับว่าสำคัญกับ จ.นครราชสีมา ในฐานะเป็นประตูสู่ภาคอีสาน ถือเป็นโอกาสที่ดีของ จ.นครราชสีมา ในการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการท่องเที่ยวด้านไดโนเสาร์ของประเทศไทยต่อไป

No comments: