Wednesday, January 16, 2008

มรดกเลือด

มรดกเลือด? จาก 'ธรรมวัฒนะ' ถึง 'ซอสภูเขาทอง'
คมสันต์ กล่อมสิงห์
หากพลิกแฟ้มคดีฆาตกรรมอำพรางที่เป็นปริศนา นำไปสู่ชนวนที่มาของการเปิดศึกแย่งชิงกองมรดกมูลค่ามหาศาล จนกลายเป็นกองมรดกเลือด ย้อนหลังไป 10 ปี จะพบว่ามีคดีดังๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนในแวดวงตระกูลไฮโซ ไฮซ้อ ตกเป็นข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์รายวันติดๆ กันยืดยาวชวนติดตามยิ่งกว่าละครน้ำเน่าในจอทีวี อยู่ 2 ตระกูลใหญ่
"ธรรมวัฒนะ" ตระกูลดังย่านสะพานใหม่-ดอนเมือง คือ มรดกเลือดคดีแรก
"วิญญรัตน์" ตระกูลเจ้าของธุรกิจซอสภูเขาทองซึ่งกำลังโด่งดังขณะนี้ ถือเป็นศึกมรดกเลือดคดีที่ 2 จะเป็นความบังเอิญหรืออะไรก็ตาม แต่เรื่องของทั้ง 2 ตระกูลมีอะไรที่คล้ายกัน ราวกับมีนักประพันธ์มือดีขีดเขียนเส้นทางชีวิตจริงให้กลายเป็นดั่งละครน้ำเน่า ประเภทลูกฆ่าพ่อ น้องฆ่าพี่ แบบทิ้งปริศนาให้คนดูขบคิด ค้นหาฆาตกรตัวจริง ที่กระโจนลงสู่สมรภูมิเข้าช่วงชิงอำนาจและทรัพย์สินเงินทอง
แต่ใช่ว่าตระกูลอื่นๆ จะไม่มีเรื่องลักษณะนี้ พอดีไม่เป็นข่าวและไม่โด่งดังเท่า 2 ครอบครัวนี้เท่านั้น เราๆ ท่านๆ เลยไม่มีโอกาสสืบเสาะเข้าไปรับรู้รับทราบ
มรดกเลือดหมื่นล้านตระกูลธรรมวัฒนะ ก่อตัวขึ้นมาหลังจากนางสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ ผู้เป็นแม่เสียชีวิตลง แม้จะจัดสรรแบ่งโอนทรัพย์สินมรดกต่างๆ ให้แก่ทายาทธรรมวัฒนะหมดแล้ว แต่ยังเหลือธุรกิจ ตลาดยิ่งเจริญ หรือตลาดขี้เถ้า ที่ระบุในพินัยกรรมให้แบ่งมรดกแบบกงสีฝรั่ง โอนทรัพย์สินทั้งหมดของตลาดมาขึ้นกับกองทุนใช้ชื่อ บริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ จำกัด มีลูก 8 คนเป็นผู้ถือหุ้น
ต่อมา น.ส.ฐานิยา หรือนงนุช ธรรมวัฒนะ ลูกคนเล็ก ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท อ้างเหตุผลไปทำธุรกิจของตัวเอง จากนั้นทายาทธรรมวัฒนะต้องการให้ตลาดเจริญยิ่งยิ่งขึ้น จึงตกลงว่าจ้างบริษัทมาบริหารตลาด ซึ่งบริษัทที่ว่าจ้างก็ไม่ใช่อื่นไกล พี่น้องทั้ง 7 คน ยกเว้นนงนุชคนเดียว ไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่อีกบริษัทชื่อ สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ (1990) โดยมีนายห้างทอง ธรรมวัฒนะ เป็นประธาน นายนพดล ธรรมวัฒนะ เป็นกรรมการผู้จัดการ ทำหน้าที่บริหารตลาด เก็บเงินรายได้จากตลาดได้กำไรสุทธิเท่าไหร่ก็เอาไปส่งให้แก่บริษัทกงสี แบ่งกันใน 8 พี่น้อง
ประธานกับกรรมการผู้จัดการต่างเป็นแกนนำกลุ่มธรรมวัฒนะที่แยกออกเป็น 2 ขั้ว ซึ่งแต่ละขั้วต่างมีสมาชิกฝ่ายละ 3 คนเท่ากัน สามารถถ่วงดุลกันได้ กระทั่งนายปริญญา ธรรมวัฒนะ เกิดมาแตกคอกับนายนพดล ในกิจการโกลด์มาสเตอร์ ทำให้ขั้วของนายนพดลสู้ฝั่งนายห้างทองไม่ได้ ทำให้นายนพดลลาออกจากการเป็นผู้จัดการตลาด กลุ่มนายห้างทองจึงเรียกประชุมแต่งตั้งกรรมการใหม่ ให้นายปริญญาเป็นผู้จัดการแทน
ปมมรดกเลือดธรรมวัฒนะมาปะทุเดือดสุดๆ เมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 6 กันยายน 2542 นายห้างทอง ธรรมวัฒนะ ซึ่งขณะนั้นเป็น ส.ส.กทม. พรรคประชากรไทย ใช้อาวุธปืนยิงตัวตาย ที่บ้านเลขที่ 299/9 หมู่ 7 ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. ภายในห้องนอนนายนพดล ผู้เป็นน้องชายที่กำลังมีปัญหาความขัดแย้งการจัดการกองมรดก แม้เบื้องต้นตำรวจจะสันนิษฐานว่าเป็นการฆ่าตัวตาย แต่น้องๆ ขั้วนายห้างทอง นำโดยนายปริญญา ธรรมวัฒนะ น้องคนที่ 9 ไม่เชื่อว่าพี่ชายจะฆ่าตัวตายเอง เพราะมีเงื่อนงำชวนให้เคลือบแคลง ไม่ว่าจะเป็นมูลเหตุจูงใจ สภาพศพ ปืนที่ใช้ฆ่าตัวตาย
"นพดล" ลูกคนที่ 4 ของตระกูลธรรมวัฒนะ แกนหลักฝั่งตรงข้ามขั้วนายห้างทอง ตกเป็นจำเลยสังคม ที่ถูกมุ่งเป้าว่า น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้
"ขณะนี้ที่ผมถูกกระทำยิ่งกว่าศาลเตี้ยเสียอีก และสังคมจะอยู่ได้อย่างไรครับ ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เราจำเป็นต้องสร้างวัฒนะธรรมที่ถูกต้อง สร้างความถูกต้องให้มันเกิดหลักเกณฑ์ กฎเกณฑ์ต้องเกิดขึ้น" บทสัมภาษณ์เปิดใจช่วงหนึ่งของนายนพดล ธรรมวัฒนะ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2542 หลังถูกกระแสสังคมกดดันอย่างหนัก ในคดีการเสียชีวิตของนายห้างทอง ธรรมวัฒนะ ว่าตัวเขาเองน่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
ตำรวจใช้เวลานานกว่า 43 วัน ในการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สุดท้ายสรุปนายห้างทอง ธรรมวัฒนะ ฆ่าตัวตาย??? โดยไม่มีพยานหลักฐานใดชี้ให้เห็นว่าเป็นการฆาตกรรม !!!
"แพทย์ผู้ชำนาญนิติจิตเวชมีความเห็นก่อนหน้านั้นว่า ช่วงก่อน 5 ทุ่ม นายห้างทองอาจมีอาการเครียดมาก จนไม่สามารถทานอาหารได้ตามปกติ จนเวลา 5 ทุ่มจึงตัดสินใจเลือกแนวทางการแก้ปัญหาให้จบไปจึงรู้สึกสบายใจ และเกิดอาการหิว บริโภคอาหารได้อย่างมากก่อนที่ฆ่าตัวตาย" พล.ต.ต.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบช.น. แถลงถึงปัจจัยการตัดสินใจฆ่าตัวตายของนายห้างทองไว้เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2542 ณ ห้องประชุมกองบัญชาการตำรวจนครบาล
ฆ่าตัวตาย คือบทสรุปของการเสียชีวิตของพี่ใหญ่ตระกูลธรรมวัฒนะ แต่ดูเหมือนว่าศึกกองมรดกเลือดตระกูลนี้ไม่ได้จบตามไปด้วย แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานหลายปี ความสัมพันธ์ของเหล่าบรรดาพี่น้องก็ยังแตกร้าวเหมือนเช่นเดิม โดยเฉพาะตัวนายปริญญากับนายนพดล 2 ผู้นำก๊กที่ต่อกันไม่ติด ถึงขนาดนายปริญญา ออกมายอมรับว่า "ความขัดแย้งกับนายนพดล ที่ตนเองเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังการตายนายห้างทองนับวันจะมีเพิ่มมากขึ้น" นอกจากนี้พี่น้องทั้ง 2 ฝ่าย ยังพยายามที่จะตัดความสัมพันธ์ด้วยการขายหุ้นในตลาดยิ่งเจริญ เพื่อไม่ต้องมีอะไรสัมพันธ์กันอีกต่อไป
กลายเป็นจุดล่มสลายแห่งความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องของตระกูล "ธรรมวัฒนะ"
ให้หลังมาได้ 3 ปี คดีลักษณะเดียวกันกับตระกูลธรรมวัฒนะมาเกิดขึ้นอีกครั้งกับตระกูล "วิญญรัตน์" เจ้าของธุรกิจซอสภูเขาทอง และโด่งดังไม่แพ้กัน ซึ่งถ้ามองดีๆ จะเห็นว่า ชนวนมรดกเลือดของตระกูลนี้ไม่ใช่เพิ่งมาเกิดเอาตอนนี้ แต่ การระหองระแหงระหว่างพี่น้องภายในกันเองมีมานานเป็น 10 ปี โดยที่คนนอกไม่ได้เข้าไปรับรู้ จะรู้กันเฉพาะคนใกล้ชิด หรือคนในแวดวงเท่านั้น
จุดประกายปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัวออกมาเป็นข่าวให้สังคมภายนอกรับรู้และรับทราบ
ตั้งแต่เมื่อ 1 สิงหาคม 2529 หลังคนร้ายขี่รถจักรยานยนต์ ใช้ปืน.38 ยิงนายไกรลาศ วิญญรัตน์ หรือเฮีย 3 ที่เข้ามาดูแลกิจการใน หจก.ไทยเทพรส ตำแหน่งผู้จัดการ แทนนายใช้ แซ่โค้ว ผู้เป็นบิดา เพราะนายไกรลาศเป็นลูกชายคนโตของพี่น้องทั้งหมด
ตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 3 คน คือ นางวิมลรัตน์ วิญญรัตน์ สะใภ้ 4 หรือที่ทุกคนเรียกซ้อ 4 ภรรยานายไกรวัลย์ วิญญรัตน์ หรือเฮีย 4 ของตระกูล ในฐานะเป็นผู้จ้างวานนายศิรินทร์ โลกนิมิตร คนขับรถจักรยานยนต์ และนายโพธิ์แก้ว โลกนิมิตร มือปืน ต่อมา ศาลอาญาพิพากษาว่ามีความผิดจริงให้ลงโทษประหารชีวิตนางวิมลรัตน์ และจำคุกนายศิรินทร์และนายโพธิ์แก้วตลอดชีวิต ซึ่งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น นางวิมลรัตน์ ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานอภัยโทษประหารชีวิต เป็นจำคุก 40 ปี ปัจจุบันต้องโทษจำคุกอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงลาดยาว
กิจการต่างๆ ของตระกูลวิญญรัตน์ แทนที่จะตกไปอยู่ในความดูแลของนายไกรวัลย์ เฮีย 4 ก็ต้องเลื่อนลงไปอยู่ในมือนายปริญญา วิญญรัตน์ หรือเฮีย 7 เพราะภรรยาเฮีย 4 ต้องหาจ้างวานฆ่าพี่ชายเสียแล้ว หากเฮีย 4 ขึ้นนั่งเก้าอี้บริหารกิจการคงไม่สวยเท่าใดนัก ทำให้ความขัดแย้งในตระกูลวิญญรัตน์ทวีความร้อนแรงขึ้นเป็นลำดับ ต่อมาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ นายไกรวัลย์ หรือเฮีย 4 ได้ไปแจ้งความกล่าวโทษต่อกองปราบปราม ให้ดำเนินคดีกับนางวรรณราตรี วิญญรัตน์ สะใภ้ 7 หรือซ้อ 7 กล่าวหาเป็นผู้จ้างวานให้นายศิรินทร์และนายโพธิ์แก้วฆ่านายไกรลาศตามคดีเดิมที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว กระทั่งวันที่ 24 มิถุนายน 2545 ตำรวจมีหลักฐานว่าซ้อ 7 มีส่วนร่วมกระทำผิด??? จึงขออนุมัติออกหมายจับ
แต่พอตำรวจจะออกติดตามซ้อ 7 มาดำเนินคดี กลับพบประเด็นที่น่าสนใจเกิดขึ้นใหม่ในคดีนี้อีก "ซ้อ 7 หายตัวไปแบบไร้ร่องรอยมานานกว่า 4 ปี" ไม่มีการติดต่อกับญาติพี่น้องหรือแม้แต่คนใกล้ชิด และที่น่าสงสัยเป็นพิเศษก็ตรงบัญชีธนาคารของเธอไม่เคยมีการเคลื่อนไหวตามวันเวลาที่เธอเองหายตัวไปเช่นกัน
เธอหายตัวไปตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 แต่กว่าเรื่องจะถูกเปิดเผยก็เมื่อแม่บ้านที่รับจ้างทำความสะอาดห้องเลขที่ 675/199-202 อาคารปรีดีเพลส ตึก B ที่ซ้อ 7 เป็นเจ้าของได้รับมอบอำนาจจากนายปริญญา หรือเฮีย 7 ให้เข้าแจ้งความตำรวจ สน.คลองตัน ลงบันทึกประจำวันว่ามีคนหายไป
ซ้อ 7 ตายแล้ว ?????
เมื่อตัวละครที่สำคัญในคดีฆ่าเฮีย 3 หายไปอย่างลึกลับชวนสงสัยเช่นนี้ ทุกประเด็นที่เป็นชนวนน่าจะเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของเธอจึงต้องถูกขุดคุ้ยละเอียดยิบ โดยเฉพาะเรื่องส่วนตัว เพราะความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับสามีก็ใช่ว่าจะราบรื่นโรยด้วยกลีบกุหลาบเสียที่ไหน มีทั้งเรื่องทรัพย์สมบัติ ชู้สาว การหย่าร้างเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ทำให้กระแสสังคมจับจ้องไปที่เฮีย 7 ผู้ที่นั่งอยู่บนภู
ปมสงสัยที่ผุดขึ้นในหัวสมองของทุกคนที่ติดตามละครชีวิตของคนในตระกูลวิญญรัตน์ แถมวาดภาพลำดับเรื่องราวเป็นตุเป็นตะว่า ซ้อ 7 ถูกฆ่าตัดตอนจากไอ้โม่งที่อยู่เบื้องหลังบงการฆ่าเฮีย 3 ด้วยการวางแผนที่แยบยลหลอกให้ซ้อ 7 เป็นตัวเชื่อมดึงซ้อ 4 เข้ามาเกี่ยวข้องในการติดต่อการจ่ายเงินให้กลุ่มมือปืนที่ลงมือสังหาร พอซ้อ 4 ติดร่างแหกลายเป็นคนจ้างวานฆ่าตามแผน ตัวเชื่อมอย่างซ้อ 7 ก็แปรผันจากผู้รับใช้ที่ดีกลายเป็นอยู่ไปก็รังแต่จะนำความเดือดร้อนมาให้ สุดท้ายก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย???
"ผมไม่ใช่คนเลวถึงขนาดจะคิดวางแผนสั่งฆ่าใคร แต่ยอมรับว่าในครอบครัววิญญรัตน์เอง ก่อนที่จะเกิดเรื่องเมื่อ 16 ปีที่ผ่านมา มีความขัดแย้งกันในครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องการบริหารงานภายในบริษัทบ้างเป็นธรรมดา ซึ่งทุกคนในครอบครัวเข้าใจ และไม่คิดว่าปัญหานี้จะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ถึงกับต้องฆ่ากันเองระหว่างพี่น้อง ที่ผ่านๆ มามีข่าวแบบอ้อมๆ ในทำนองว่าคนในครอบครัววิญญรัตน์ มีการจ้างวานให้มีการอุ้มนางวรรณราตรีไปฆ่าทิ้ง ทุกวันนี้เมื่อเจอผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ทุกคนตักเตือนว่าให้หนักแน่น เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ข้อเท็จจริงทั้งหมด" คำเปิดใจครั้งแรกของนายปริญญา วิญญรัตน์ หรือ เสี่ย 7 กับเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2545
และจนถึงวินาทีนี้การค้นหาซ้อ 7 วรรณราตรี วิญญรัตน์ สาวสวยจากเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ก็ยังคงดำเนินต่อไป เพื่อนำมาไขปมปริศนา ที่มาที่ไป ใครคือผู้บ่งการฆ่าเสี่ยใหญ่ในตระกูลวิญญรัตน์กันแน่
พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผบ.ตร. เคยพูดเปรียบเทียบคดีนี้กับคดีตระกูลธรรมวัฒนะไว้ว่า
"เรื่องนี้เปรียบเทียบกับคดีตระกูลธรรมวัฒนะ ที่ขณะเกิดเหตุ ตำรวจ อัยการ และศาลไม่ได้รู้เรื่องอะไรมาก่อน ที่นายห้างทองตาย สื่อและตำรวจก็ไม่เชื่อว่าฆ่าตัวตาย และได้สั่งให้กองปราบปรามติดตามตลอด เพราะฝืนความรู้สึกประชาชน ใครมีหลักฐานใหม่หลายปีก็ดำเนินการได้ เลยเพราะไม่ได้เป็นคดีอาญา แตกต่างกับคดีที่เป็นคดีอาญา แต่คล้ายกันตรงที่เป็นเรื่องครอบครัว คนวงนอกไม่รู้เรื่อง"
ที่แน่ๆ เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดมีคนใน 2 ครอบครัวนี้ตกเป็นจำเลยสังคมไปแล้ว 2 คน คือ นายนพดล ธรรมวัฒนะ และนายปริญญา วิญญรัตน์ ทั้งๆ ที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่ได้ระบุชัดเจนลงไปว่าใช่คนผิดหรือไม่
ถ้าพิเคราะห์กันดีๆ เรื่องลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากไม่มีคำนี้เกิดขึ้นในตระกูลธรรมวัฒนะและวิญญรัตน์ "โลภ"
"ความโลภเกิดขึ้นได้กับทุกคนในสังคมโลก แม้แต่พระสงฆ์เองยังมีเงินอยู่ในบัญชีกันเป็นจำนวนมาก โอนกันมาเป็นสมบัติส่วนตัว เมื่อมรณะไปแล้วก็เห็นได้ว่ามีเงินมากมาย สุดท้ายเอาไปไม่ได้" แง่คิดเรื่องความโลภ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา
ฟังแล้วก็...ปลง

No comments: